Perspective Students | Current Students | Staff | Alumni | Partners
 
 

ประวัติคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์


 มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน มีจุดกำเนิดมาจากมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2486 การเปลี่ยนแปลงเป็นเช่นปัจจุบัน เกิดขึ้นในปี พ.ศ 2507  โดยดำริของคณาจารย์และผู้รับผิดชอบในขณะนั้น ที่จะขยายมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ เพื่อให้สอดคล้องและตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและประเทศ และมีความเห็นพ้องว่าควรขอพระราชทานนาม “มหิดล” ให้เป็นชื่อของมหาวิทยาลัยที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ต่อมาจึงได้มีการขอพระบรมราชานุญาต เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เพื่อกราบบังคมทูลพระกรุณา

 ในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ แบบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยมหิดล อันเป็นพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก แทนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เดิม และนั่นคือจุดกำเนิดของคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์อย่างเป็นทางการ ในฐานะเป็นคณะที่ 12 ของมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยผลแห่งการประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว

 ในปี พ.ศ.2515 มหาวิทยาลัยเริ่มเตรียมการบริหารคณะ โดยแต่งตั้งศาสตราจารย์ นพ.ชัชวาล โอสถานนท์ อดีตอธิการบดี ทำหน้าที่เป็นผู้รักษาการคณบดีท่านแรกของคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ภารกิจเร่งด่วนในระยะแรก คือ จัดการศึกษาวิชาการศึกษาทั่วไปสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีให้กับมหาวิทยาลัย

 ในปี พ.ศ. 2517 คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มีการจัดโครงสร้างการบริหารภายในอย่างเป็นทางการ โดยแบ่งออกเป็น 3 ภาควิชา คือ ภาควิชาสังคมศาสตร์ ภาควิชามนุษยศาสตร์ และภาควิชาศึกษาศาสตร์ และสำนักงานคณบดี และในปีต่อมา คณะฯจึง เริ่มจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาขึ้น เริ่มต้ นจากระดับปริญญาโทและขยายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2525 คณะฯได้ย้ายที่ทำการจากวิทยาเขตพญาไท มายังวิทยาเขตศาลายาในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยเป็นคณะแรกในวิทยาเขตศาลายาที่มีการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา

     ปัจจุบัน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ประกอบด้วย 4 ภาควิชา และ 4 สำนักงาน

 

>> ภาควิชาสังคมศาสตร์

    ภาควิชาสังคมศาสตร์ มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนและการวิจัย ในสาขาวิชาทางด้านสังคมศาสตร์ ประกอบด้วย 10 สาขาวิชา โดยแบ่งหลักสูตรที่เปิดสอนออกเป็น ปริญญาเอก 3 หลักสูตร ปริญญาโท 6 หลักสูตร และปริญญาตรี 1 หลักสูตร มีสาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ คือ อาชญาวิทยาและงานยุติธรรม รัฐประศาสนศาสตร์ สังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อม และ  เวชระเบียน

 

>> ภาควิชามนุษยศาสตร์

      ภาควิชามนุษยศาสตร์ มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนและวิจัย ในสาขาวิชาด้านศาสนา และจริยศาสตร์ ภาควิชามนุษยศาสตร์ที่เปิดสอนในระดับปริญญาโท 1 หลักสูตร และระดับปริญญาเอก 1 หลักสูตรในสาขาวิชาศาสนาและการพัฒนา 

 

>>ภาควิชาศึกษาศาสตร์

     ภาควิชาศึกษาศาสตร์ มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนและวิจัย ทางด้านประชากร สิ่งแวดล้อม การจัดการศึกษา การจัดการการกีฬา และการประเมินโครงการทางสังคม ภาควิชาเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาเอก 5 หลักสูตร และในระดับปริญญาโท 4 หลักสูตร 

 

>>ภาควิชาสังคมและสุขภาพ

    ภาควิชาสังคมและสุขภาพ มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนและวิจัยทางด้านสังคมและสุขภาพ การแพทย์และสาธารณสุข มีหลักสูตรที่เปิดสอนในะดับปริญญาเอก             2 หลักสูตร และปริญญาโท 2 หลักสูตร ในจำนวนนี้ เป็นหลักสูตรนานาชาติ 2 หลักสูตร 

 

>>สำนักงานคณบดี

    สำนักงานคณบดี เป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนวิชาการและการบริหารงานด้านต่างๆ ของคณะฯ สำนักงานคณบดีประกอบด้วย 4 งานสำคัญ ได้แก่ งานบริหารทั่วไป งานคลังและสินทรัพย์ งานทรัพยากรบุคคล และงานยุทะศาสตร์และงบประมาณ

 

>>สำนักงานวิจัยและบริการวิชาการ

    สำนักงานวิจัยและบริการวิชาการเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการ 4 ภารกิจ ได้แก่ งานวิจัยและบริการวิชาการ วารสารสหศาสตร์ สำนักงานจริยธรรมวิจัยในคนสาขาสังคมศาสตร์ และห้องสมุด อย่างไรก็ตามภารกิจที่สำคัญของสำนักงานวิจัยและบริการวิชาการคือการสนับสนุนการผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมการวิจัยที่มีคุณภาพของบุคลากรในคณะให้ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของคณะ

 

>>สำนักงานบริหารการศึกษาและนวัตกรรมการเรียนรู้

    สำนักงานบริหารการศึกษาและนวัตกรรมการเรียนรู้ เป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนด้านการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาของคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์         ประกอบด้วย งานบริหารการศึกษาและกิจการนักศึกษาและงานส่งเสริมการศึกษาแบบยืดหยุ่นและพัฒนาทักษะ

 

>>สำนักงานบูรณาการวิชาการเพื่อสังคม

    สำนักงานบูรณาการวิชาการเพื่อสังคม เป็นหน่วยงานล่าสุดของคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2565 ประกอบไปด้วย 4 หน่วยงานย่อย ได้แก่

  1. หน่วยความเป็นเลิศทางด้านศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

  2. หน่วยความเป็นเลิศด้านศึกษากฏหมาย สุขภาพ และคุณภาพชีวิต

  3. หน่วยความเป็นเลิศด้านวิจัยทางเพศภาวะ เพศวิถี และสุขภาพ

  4. ศูนย์จีนและโลกาภิวัฒน์เอเชียศึกษา